หนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องจะเป็นภาพขาว – ดำหมด และเล่าเรื่องราวเป็นภาษาสเปนและมิกซ์เทก ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นใน Mexico ด้วย หนังไม่ได้ทำมาแบบเสียดสีชนชั้น หรือทำให้รู้สึกว่าเป็นหนังน่าอึดอัดแต่อย่างใด แต่เป็นหนังดราม่า ที่เล่าการดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ ได้อย่างลึกซึ้งน่าประทับใจ
![สรุปหนังสือ] No Rules Rules : Netflix and the Culture of Reinvention – Panasm's Blog](https://www.panasm.com/wp-content/uploads/2021/02/roma-poster.jpg)
ROMA ฉายภาพชีวิตของผู้หญิง 2คนต่างชนชั้นแต่ร่วมชายคาเดียวกันฝ่ายแรกคือ เคลโอ (ยาลิซา อปาริชิโอ) สาวใช้ในบ้านของครอบครัวคุณหมอชนชั้นกลางที่ชีวิตของเธอผกผันหลังจากตั้งท้องกับชายหนุ่มที่หนีจากเธอไป ส่วนฝ่ายหลังคือ โซเฟีย (มารินา เดอ ทาวิรา) ภรรยาของคุณหมอที่นอกใจเธอ โดยทั้งสองชีวิตต้องดูแลเด็กๆและคุณย่าในบ้านภายใต้สถานการณ์การเมืองอันคุกรุ่นในเมืองโรมา ประเทศเม็กซิโกยุค 70

พิจารณาจากต้นธารที่ กัวรอง นำชีวิตวัยเด็กมานำเสนอในรูปแบบสัจนิยมแล้วก็ดูเหมือนว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานชื่อเดียวกันอย่าง Roma หนังปี 1972 ของ เฟรดเดอริโก เฟลลินี หนึ่งในผู้นำความเคลื่อนไหวของยุค Italian Neo-Realism หรือ กลุ่มนวสัจนิยมอิตาเลียนไม่น้อย ทั้งการที่หนังเลือกแนวทางสัจนิยมสำรวจชีวิตแบบไม่มีพลอตเรื่องชัดเจนในการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของชนชั้นกลางและชั้นล่าง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองหลังยุคสงครามหรือวิกฤติการเมืองทั้งการทิ้งให้คนดูเห็นความเคลื่อนไหวในภาพเป็นเวลานานเพื่อให้พินิจพิเคราะห์ตีความสัญลักษณ์ต่างๆ การใช้สถานที่ถ่ายทำเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินเรื่อง-และดัดแปลงมันให้น้อยที่สุดเพื่อคงความจริงของสถานที่ รวมถึงการคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่อย่าง ยาลิซา อปาริชิโอ (ตรงนี้ถือว่าใกล้เคียงกับการทำหนังแนวนวสัจนิยมที่มักเลือกคนท้องถิ่นมาเป็นนักแสดง) นั่นทำให้เราได้ติดตามชีวิตของ เคลโอ และ โซเฟีย แบบผู้สังเกตการณ์และค่อยๆซึมซับเรื่องราวทั้งสุขและเศร้าของพวกเธอท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มคุกคามชีวิตของผู้หญิงทั้งสองคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป น่าเชื่อถือและนำพาให้เกิดอารมณ์ร่วม

และด้วยสายตาและมันสมองของ กัวรอง หนังจึงไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาลอกการบ้านงานชั้นครูแบบทื่อๆ ตรงกันข้าม กัวรอง สามารถนำศิลปะภาพยนตร์อันหลากหลายมาใช้งานได้อย่างลุ่มลึกนำเทคนิคมารับใช้เนื้อหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแอบคารวะมาสเตอร์ออฟซีนีม่าหลายท่านโดยนอกจาก เฟลลินี ที่ถือเป็นแรงบันดาลใจหลักแล้วที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็น อากิระ คุโรซาว่า ในแง่การวางความเคลื่อนไหวในกรอบภาพ การมิกซ์เสียงให้เกิดมิติสอดคล้องกับภาพ ฉากเด่นสุดคือฉากที่ เคลโอ ไปตามหา แฟร์มิน ถึงสนามฝึกที่ใครดูก็น่าจะถึงงานมาสเตอร์พีซอย่าง Seven Samurai (1954) ของคุโรซาว่าแน่ๆ
